วันอาทิตย์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ประมวลกฎหมายมาตรา112

ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

   การออกมาล่ารายชื่อ เสนอแก้มาตรา 112 ของกลุ่มนิติราษฏร์ โดยมีนักวิชาการ และผู้สนับสนุนจำนวน 118 คนเข้าร่วมรณรงค์ เป็นประเด็นร้อนของสังคมไทย
       
       ในวันที่ชาวบ้านกำลังทุกข์ยากลำบากหลังวิกฤตอุทกภัย และร้อนรุ่มกลุ้มใจกับความแปรปรวนของอากาศ ที่ส่อแววฝนจะมาเร็ว น้ำจะท่วมใหญ่อีกในปีนี้
       
       รัฐบาลคิดถึงแต่การแบ่งปันอำนาจหาประโยชน์ให้พรรคพวก ยังไม่ได้เร่งมือในการเตรียมป้องกันน้ำท่วมที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
       
       เรื่องนี้ถ้าใครได้ฟังคุณสนธิเดี่ยวไมโครโฟนเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาคงได้ฟังกันจนชุ่มปอดหนำใจกันไปแล้วนะครับ
       
       ทำไมกลุ่มนิติราษฎร์จึงเรียกร้องเรื่องกฎหมายมาตรา 112 ลองมาดูที่มาที่ไปของกฎหมายกันหน่อยนะครับ
       
       ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 กำหนดว่า “ผู้ใด หมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี”
       
       กฎหมายอาญามาตรานี้ กำหนดขึ้นเพื่อรองรับกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เกือบทุกฉบับที่ผ่านมาในหมวดเกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์
       
       กฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ในหมวด 2 มาตรา 8 ได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้”
       
       นอกจากนี้ ในหมวด 5 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐส่วนที่ 2 แนวนโยบายด้านความมั่นคงของรัฐ มาตรา 77 กำหนดว่า “รัฐต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราช อธิปไตย และบูรณภาพแห่งเขตอำนาจรัฐ และต้องจัดให้มีกำลังทหาร อาวุธยุทโธปกรณ์ และเทคโนโลยีที่ทันสมัย จำเป็นและเพียงพอ เพื่อพิทักษ์รักษาเอกราช อธิปไตย ความมั่นคงของรัฐ สถาบันพระมหากษัตริย์ ผลประโยชน์แห่งชาติ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเพื่อการพัฒนาประเทศ ”
       
       จะเห็นได้ว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กำหนดขึ้นเพื่อรองรับกฎหมายรัฐธรรมนูญ ให้มีผลทางปฏิบัติในการดูแลปกป้ององค์พระมหากษัตริย์จากการถูกละเมิด ซึ่งมีผลต่อความมั่นคงแห่งรัฐ
       
       การแก้ไขหรือยกเลิกมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา จึงมิใช่ประเด็นการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเท่านั้น แต่เป็นประเด็นที่จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงแห่งรัฐ และระบอบการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขโดยตรง
       
       ผมว่า ความจริงแล้วมีประมวลกฎหมายอีกมากมาย ที่นักกฎหมายและนักวิชาการ ควรนำมาเสนอปรับปรุงแก้ไขเพื่อแก้ปัญหาชีวิตความเป็นอยู่ ผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติโดยส่วนรวม ผมว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของความบังเอิญ แต่มันเป็นเรื่องความบังอาจเหิมเกริมของนักวิชาการไม่กี่คนเท่านั้น
       
       แม้รัฐบาลจะแก้ต่างว่า ไม่เห็นด้วยกับการเรียกร้องของกลุ่มนิติราษฎร์ แต่พฤติกรรมการกระทำและคำพูดของคนในพรรคเพื่อไทยหลายกรรมหลายวาระที่ผ่านมาก็ชัดเจนอยู่แล้วว่าเป็นแนวเดียวกัน รัฐบาลนี้ปากว่าตาขยิบเห็นชัดๆ
       
       การเสนอให้ยกเลิกประมวลกฎหมายมาตรา 112 ของกลุ่มนิติราษฎร์ ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นการเคลื่อนไหวทางการเมือง เพื่อผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม เพื่ออำนาจของคนบางคน
       
       ที่สำคัญยังเชื่อมโยงกับการเคลื่อนไหวในการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ไปสู่การปกครองระบอบอื่น
       
       เป็นการเคลื่อนไหวที่สอดรับกับเคลื่อนไหวของนักการเมือง นักเคลื่อนไหวในแกนนำกลุ่มนปช.รวมทั้งการปล่อยให้มีการโจมตีสถาบันในเว็บไซต์มากมาย โดยรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปล่อยปละละเลย ไม่ได้ใช้กฎหมายดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อหยุดการเคลื่อนไหวเหล่านั้น
       
       การเคลื่อนไหวของกลุ่มนิติราษฎร์ แม้จะมีชื่อนักวิชาการที่เป็นที่รู้จัก แต่ก็ส่อแววมีปัญหาไม่ยอมรับจากเจ้าตัว หลังจากปรากฏรายชื่อออกมา ไม่กี่วันก็มีเสียงจากบางคน เช่น นายเสกสรรค์ ประเสริฐกุล อดีตผู้นำนักศึกษาในช่วงเหตุการณ์ “14 ตุลา 16 ” ได้ชี้แจงว่า ตนได้อนุญาตให้มีการใช้ชื่อของตนในฐานะผู้สนับสนุนเพราะผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือขอร้อง แต่ตนไม่ใช่แกนนำในการรณรงค์แก้ไข และ ตนไม่ได้เกี่ยวข้องกับคณะนิติราษฎร์
       
       ล่าสุด นายธีรยุทธ บุญมี อดีตแกนนำนักศึกษาในรุ่นเดียวกัน ได้ออกมาแสดงความเห็นในเรื่องนี้ว่า“ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในขณะนี้กว้างมาก ลึกมาก ซึ่งทางออกผมจะไม่เสนอประนีประนอม สมานฉันท์ แต่ต้องอาศัยกระบวนการคลี่คลายเป็นช่วง ๆ จุดเริ่มต้นที่ดีที่น่าจะเกิดคือ ต้องมองปัญหาแบบที่เป็นจริงและตัดอคติของตัวเองทั้งหมด เคยเกลียดชัง ไม่เห็นด้วยหรือชื่นชมศรัทธาเชื่อถือมากก็ต้องลด ถ้าศึกษาเข้าใจปัญหาจริง ๆ อาจจะช่วยเปิดทางช่วยให้มองเห็นว่าควรจะทำอะไร”
       
       การเคลื่อนไหวของกลุ่มนิติราษฎร์ ถูกคัดค้านต่อต้านจากคนไทยหลายกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกออนไลน์ ความคิดเห็นจากเฟซบุ๊กจำนวนมาก แสดงถึงกระแสคนไทยส่วนใหญ่รับไม่ได้
       
       ผมว่าระบบการเมืองการปกครองของเราเป็นผลจากพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของเราเอง สังคมไทยมาถึงวันนี้ได้ก็เพราะวัฒนธรรมที่เป็นรากฐานจากอดีต ซึ่งเป็นฐานสำคัญสำหรับทางเลือกที่เหมาะสมในปัจจุบันและอนาคต
       
       สุดท้ายนี้ ผมก็หวังว่าคนรุ่นใหม่อย่างพวกเราจะเอาสมองมาช่วยกันแก้ปัญหาให้บ้านเมือง ไม่ใช่มาซ้ำเติม เหยียบย่ำทำลายประเทศนี้ เราเป็นประเทศที่มีราก ที่ที่พวกเราภูมิใจที่เกิดมา และมีชีวิตอยู่มาได้จนถึงทุกวันนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น